แนะนำหนังสือ: ปักกิ่งในความทรงจำ

แนะนำหนังสือ: ปักกิ่งในความทรงจำ
ประสบการณ์ที่ไม่เคยเปิดเผย ครึ่งศตวรรษในจีน
หิ้งหนังสือ ผู้จัดการออนไลน์ 31 กรกฎาคม 2550

         ศรีกานดา ภูมิบริรักษ์ นักเรียนชั้นดีของโรงเรียนสตรีคริสเตียน ที่ทางโรงเรียนตั้งใจจะมอบทุนให้ไปเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยยังสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความผกผันของโชคชะตา ทำให้ชีวิตของเธอหักเหมายังดินแดนแห่งอารยะธรรมตะวันออก โดยจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ปักกิ่ง ประเทศจีน หลังจากนั้นจึงทำงานเป็นอาจารย์โรงเรียนมัธยมศึกษาตามสายอาชีพที่เรียนมา และแต่งงานกับ สุชาติ ภูมิบริรักษ์* โดยตั้งรกรากอยู่ที่กรุงปักกิ่งจนถึงปัจจุบัน
      
        ศรีกานดาได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงที่ผ่านพบในช่วงชีวิตกว่าครึ่ง ทศวรรษที่โลดแล่นอยู่ในเมืองหลวงของดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ ลงในหนังสือที่ชื่อ "ปักกิ่งในความทรงจำ (北京往事)" โดยศรีกานดาได้ผ่านห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางสังคมและการเมือง ของประเทศจีนหลายต่อหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่ภายหลังสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน สู่ยุคก้าวกระโดดใหญ่ ผ่านยุคปฏิวัติทางวัฒนธรรม เข้าสู่สมัยนโยบายเปิดประเทศ จนก้าวขึ้นมาอยู่ในฐานะประเทศที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและวัฒนธรรม อย่างที่เห็นอยู่ในทุกวันนี้
      
        หนังสือแบ่งออกเป็น 7 บท ได้แก่ ชีวิตฉันเหหักไปปักกิ่ง สมัยที่ต้องใช้คูปองในปักกิ่ง พบ“ศรีบูรพา”ในปักกิ่ง ท่ามกลาง“การปฏิวัติใหญ่ทางวัฒนธรรม” เมื่อจีนเริ่มดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ โรงแรมมิตรภาพปักกิ่ง : บ้านพักอาศัยค่อนชีวิตของเรา และที่อยู่อาศัยในปักกิ่ง

        ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกความทรงจำของศรีกานดา ที่มีประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของประเทศจีนเป็นฉากหลัง ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นข้อมูลมือหนึ่งที่มีทั้งเชิงอรรถ และอ้างอิงตัวบุคคลที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีคุณค่าอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นข้อมูลอีกมุมหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจด้าน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของจีน และต้องที่ต้องการจะเข้าใจจีนอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

 

*หมายเหตุ: สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้เดินทางไปเยือนจีนในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ในฐานะเลขานุการของคณะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่เป็นเสมือนทูตสันทวไมตรีภาคเอกชนเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ไทย- จีน ซึ่งนำโดย "ศรีบูรพา" (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจีน โดยมีนักคิดนักเขียนไทยร่วมเดินทางไปด้วยรวม 12 คน ทว่าในขณะที่คณะของเขาอยู่ในประเทศจีน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการรัฐประหาร ทำให้ทั้ง "ศรีบูรพา" และ สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ไม่สามารถกลับเมืองไทยได้เพราะเป็นอดีตผู้ต้องหาคดี "กบฏสันติภาพ" ในยุคของจอมพลป. พิบูลสงคราม จึงขอพำนักอยู่ในประเทศจีน และตั้งรกรากอยู่ที่เมืองปักกิ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยภายหลัง "ศรีบูรพา" เสียชีวิต ณ กรุงปักกิ่ง ส่วน สุชาติ ภูมิบริรักษ์ ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในจำนวนชาวต่างชาติ 17 คนที่ประเทศจีนนับถือเป็นเพื่อนแท้


Print